ยุคของโลกการสื่อสารไร้พรมแดน ทำให้โลกการสื่อสารแคบลงเรื่อย ๆ เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการติดต่อสื่อสาร ทำให้เราได้รับข้อมูลต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่และการได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิต การดำเนินธุรกิจทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน การพัฒนาประเทศและการพัฒนาความรู้ของประชาชนให้ทัดเทียมกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ซึ่งเป็นนโยบายที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาปฏิรูประบบบริการของรัฐให้มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ตลอดเวลา อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลดังกล่าว จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2546 อนุมัติให้ทุกส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐดำเนินการเกี่ยวกับศูนย์บริการประชาชน (Call Center) โดยใช้บริการ “โครงการศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน (Government Contact Center)” ภายใต้การดำเนินงานของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชนได้ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน เพราะเป็นแหล่งบริการข้อมูลที่ประชาชนเพียงติดต่อไปที่ 1111 หมายเลขกลางเพียงหมายเลขเดียว (Portal Site) ภาครัฐก็สามารถเข้าถึงและรับทราบข้อมูลจากประชาชนโดยตรง และนำข้อมูลนั้นมาปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหาร การจัดการ การบริการของภาครัฐให้ดียิ่งขึ้น ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน จึงเป็นเครื่องมือที่สนองนโยบายรัฐอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถลดช่องว่างระหว่างรัฐบาลกับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เห็นถึงประโยชน์ของการจัดตั้ง “ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน” และเพื่อที่จะสนองนโยบายรัฐบาล จึงมอบหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการในด้านต่าง ๆ โดยมีบทบาทภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- สนองตอบนโยบาย e-Government ของรัฐบาล
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการประชาชนโดยการเพิ่มช่องทางให้ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และบริการ รวมถึงเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ได้สะดวก รวดเร็ว
- อำนวยความสะดวก ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทางมาติดต่อกับ ส่วนงานราชการภายใต้สังกัดโดยตรง
- ลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของภาครัฐ
e-Government เป็นกระบวนการปฏิรูประบบบริหาร บริการ และกระบวนการการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และมีลักษณะเป็นธรรมาภิบาล โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาปรับปรุงระบบการทำงานเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการและข้อมูลต่าง ๆ ที่สะดวก รวดเร็ว ตลอดเวลา ทั่วถึงและเป็นธรรม อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของภาคเอกชนและประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพของประเทศเข้าสู่การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ ดังนั้นเพื่อให้ e-Government มีลักษณะเป็นรูปธรรมและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เราต้องร่วมพัฒนาให้เกิดสิ่งต่อไปนี้
- เพิ่มขีดความสามารถให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงบริการและข้อมูลของรัฐ
- เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานรัฐบาลโดยตรง
- เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการทำงานของรัฐบาลและการปรับกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ของระบบราชการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
- เพิ่มความเชื่อมั่นของประชาชนในการรับบริการอย่างทั่วถึง ปลอดภัยและเป็นส่วนตัว
วิสัยทัศน์
เป็นช่องทางหลักให้กับประชาชน ในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ ( The Official Gateway)
พันธกิจ
ให้บริการทั้งการสอบถามข้อมูล การรับเรื่องร้องเรียน และการให้บริการในการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาครัฐ ของทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน
บริการสอบถามข้อมูลทั่วไป Q&A (Questions & Answer)
เป็นการให้บริการสอบถามข้อมูลทั่วไปที่ประชาชนให้ความสนใจเกี่ยวกับกระทรวงหรือหน่วยงานต่าง ๆ
- ข้อมูลองค์กร ได้แก่ บทบาท หน้าที่ ภารกิจ โครงสร้างการบริหาร เป็นต้น
- ข้อมูลบริการ ได้แก่ บริการต่าง ๆ ที่หน่วยงานภาครัฐให้บริการแก่ประชาชน
- ข้อมูลความรู้ ได้แก่ ความรู้เชิงวิชาการของแต่ละหน่วยงาน
บริการสอบถามข้อมูลเพื่อการติดต่อหน่วยงานภาครัฐ (Contact Information)
เป็นบริการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการติดต่อหน่วยงานของภาครัฐ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขโทรสาร สถานที่ ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อประโยชน์ในการให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการติดต่อหรือขอใช้บริการกับกระทรวงต่าง ๆ
บริการแบบฟอร์มคำขอบริการและเอกสารต่างๆ
เป็นบริการด้านเอกสารเกี่ยวกับคำขอบริการ โบรชัวร์ เอกสารหรือแบบฟอร์มต่าง ๆ ที่บริการส่งให้ลูกค้าผ่านทางโทรสารหรืออีเมล์ เป็นต้น
บริการรับเรื่องร้องเรียน (Complain)
เป็นบริการเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ร้องขอความช่วยเหลือ ติชม เสนอะแนะ หรือให้ข้อคิดเห็นการทำงานของภาครัฐ รวมถึงการติดตามผลการดำเนินงานของภาครัฐผ่าน GCC
- โทรศัพท์ ผ่านหมายเลข 1111
- โทรสาร ผ่านหมายเลข 1111
- e-mail Address ที่ contact_1111@gcc.go.th
- เว็บไซต์ ที่ www.gcc.go.th
- ช่องทางอื่นๆ ได้แก่
ศูนย์บริการข้อมูลภาครัฐเพื่อประชาชน GCC 1111 (Government Contact Center) ภายใต้การดำเนินงานของ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภาครัฐ ดังนี้
ประโยชน์ที่ประชาชนทั่วไปจะได้รับ
- สามารถจดจำหมายเลขโทรศัพท์เพียงหมายเลขเดียว เพื่อติดต่อได้ทุกส่วนงานของรัฐบาล
- รับทราบข้อมูล ข่าวสาร บริการและสามารถร้องเรียน การบริการของหน่วยงานภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น
- สามารถติดต่อได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทุกวัน
- ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปติดต่อกับส่วนงานราชการ
ประโยชน์ที่ภาครัฐจะได้รับ
- สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกระทรวงในสายตาประชาชน
- ประหยัดค่าใช้จ่ายในการจัดหาสถานที่ ระบบอุปกรณ์และบุคลากร
- ลดภาระค่าใช้จ่ายจากการบริหารจัดการฐานข้อมูล
- หน่วยงานของราชการจะมีภาระลดน้อยลง โดยใช้ช่องทางสื่อสารโทรคมนาคมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางโทรศัพท์ โทรสาร และอินเทอร์เน็ต
นโยบายคุณภาพ
“บริการเป็นเลิศ พัฒนาต่อเนื่อง สู่ความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ”
การรับรองคุณภาพ ISO 9001
- ปี 2555 ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพงานบริหารการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรผู้ให้บริการ Call Center 1111
- ปี 2557 ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2008
- ปี 2560 ถึงปัจจุบัน ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพ ISO 9001 : 2015
![]() | ![]() |
สายด่วน 1111 รับรางวัลพิเศษ | สายด่วน 1111 ได้รับรางวัลแบรนด์ |