การลงทะเบียนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปี 65/66 (ปีงบประมาณ 2567)

คุณสมบัติ

    • สัญชาติไทย
    • อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ** เป็นผู้สูงอายุที่เกิดก่อน 2 กันยายน 2507 (ผู้ที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2567)
    • ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ยกเว้นผู้พิการและผู้ป่วยเอดส์ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 หรือผู้ที่ได้รับสวัสดิการอื่นตามมติคณะรัฐมนตรี (สำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ ณ วันที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยแนบเอกสารรับรองจากหน่วยงานต้นสังกัดว่าไม่เป็นผู้ได้รับบำนาญ หรือสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

กรณีที่ 1 ผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว แต่ยังไม่เคยลงทะเบียนขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

    • สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน 2565 และเดือนมกราคม – กันยายน 2566
    • จะมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป (ปีงบประมาณ 2567)

กรณีที่ 2 ผู้สูงอายุที่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณ 2567 (คนที่เกิดก่อนวันที่ 2 กันยายน 2507)

    • สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – เดือนพฤศจิกายน 2565 และเดือนมกราคม 2566 – กันยายน 2566
    • จะมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในปีงบประมาณ 2567 โดยจะได้รับเบี้ยยังชีพในเดือนถัดไปจากเดือนที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์

หมายเหตุ

    • ขอความร่วมมือให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิรับเบี้ยยังชีพมาลงทะเบียนเดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ การลงทะเบียนเดือนมกราคม – กันยายน 2566 ให้เป็นการลงทะเบียนเพื่อเก็บตกและบันทึกข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน
    • สำหรับกรณีที่ในทะเบียนราษฎรไม่ปรากฎวันที่ เดือนเกิด ให้ถือว่าบุคคลนั้นเกิดในวันที่ 1 มกราคม ของปีนั้น

เอกสารหลักฐาน

    • บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรอื่นที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่าย
    • ทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
    • สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมสำเนา กรณีขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุผ่านธนาคาร (รายชื่อธนาคารขึ้นอยู่กับดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)

เอกสารหลักฐานเพิ่มเติม (กรณีผู้สูงอายุไม่สะดวกดำเนินการด้วยตนเอง)

    • หนังสือมอบอำนาจ (แบบฟอร์มมอบอำนาจขึ้นอยู่กับการดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
    • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
    • สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ

หมายเหตุ

    • สำหรับผู้ต้องขังหรือจำคุกในเรือนจำ ทัณฑสถานหรือสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ ให้มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้อำนวยการทัณฑสถาน หรือเจ้าหน้าที่ที่ผู้บัญชาการเรือนจำมอบหมาย ยื่นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิ โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือวันที่ลงทะเบียนในแบบคำขอลงทะเบียนรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นสำคัญ

การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

       การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ (จ่ายทุกวันที่ 10 ของเดือนหากเดือนใดวันที่ 10 ตรงกับวันหยุดราชการจะจ่ายในวันทำการก่อนวันหยุดนั้น) จ่ายเป็นรายเดือนแบบขั้นบันได ดังนี้

    • ผู้สูงอายุ 60-69 ปี จะได้รับ 600 บาท
    • ผู้สูงอายุ 70-79 ปี จะได้รับ 700 บาท
    • ผู้สูงอายุ 80-89 ปี จะได้รับ 800 บาท
    • ผู้สูงอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับ 1,000 บาท

หมายเหตุ

  • กรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเสียชีวิตลง หากเป็นการเสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันกำหนดการจ่ายเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่ผู้มีสิทธิรับเงินได้แสดงเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรให้รับเงินแทน ทั้งในขณะมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตแล้ว โดยมีพยานรับรองอย่างน้อย 2 คน หากไม่ได้แสดงเจตจำนงดังกล่าวไว้ให้จ่ายเป็นเงินสดแก่ทายาทโดยธรรมหรือโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

วิธีการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

  • รับเงินสดด้วยตนเอง
  • รับเงินสดโดยบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ
  • โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามผู้มีสิทธิ
  • โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารในนามบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจจากผู้มีสิทธิ

สถานที่ลงทะเบียน

  • สำนักงานเขตที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ
  • ที่ว่าการอำเภอ, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผู้สูงอายุมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในวัน-เวลาราชการ

การสิ้นสุดการได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

  • ถึงแก่กรรม
  • ขาดคุณสมบัติ
  • แจ้งสละสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นลายลักษณ์อักษร

หมายเหตุ : กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีผู้สูงอายุสิ้นสุดลง ให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ สั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับบุคคลดังกล่าวทันที

กรณีย้ายที่อยู่

  • ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเดิมแจ้งให้ผู้สูงอายุทราบว่า ผู้สูงอายุต้องไปลงทะเบียนและยื่นคําขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยตนเองต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ “นับตั้งแต่วันที่ย้ายแต่ไม่เกินเดือนพฤศจิกายนของปีนั้น ๆ”
  • ในระหว่างปีงบประมาณ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่จ่ายเงินให้กับผู้สูงอายุอยู่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นยังคงจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไปจนกว่าจะสิ้นปีงบประมาณ (เดือนกันยายน 2566)
  • กรณีที่ผู้สูงอายุที่ผู้สูงอายุได้ย้ายภูมิลำเนา แต่ไม่ได้ไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ (ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566) ทำให้ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งเดิมและแห่งใหม่ ภายหลังได้ไปลงทะเบียนและยื่นคำขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่แล้ว ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใหม่ จ่ายเงินเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุนั้นตั้งแต่ปีงบประมาณถัดไป