การจดทะเบียนสิทธิเก็บกิน
ประเภทการจดทะเบียน
- สิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีอสังหาริมทรัพย์หนึ่งต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินทั้งหมด
- สิทธิเก็บกินเฉพาะส่วน หมายถึง กรณีที่เจ้าของรวมคนใดคนหนึ่งในอสังหาริมทรัพย์แต่ไม่ใช่ทุกคนก่อให้เกิดสิทธิเก็บกินในอสังหา-ริมทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนของตนทั้งหมด
- ปลอดสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปหรือที่ดินแปลงคงเหลือไม่มีสิทธิเก็บกินติดไปด้วย
- ครอบสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ที่ดินได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมามีการแบ่งแยกออกไป คู่กรณีตกลงกันให้ที่ดินแปลงที่แยกออกไปยังคงมีสิทธิเก็บกินต่อไปด้วย
- เลิกสิทธิเก็บกิน หมายถึง กรณีที่ได้จดทะเบียนสิทธิเก็บกินไว้แล้ว ต่อมาคู่กรณีประสงค์จะเลิกสิทธิเก็บกินต่อกัน หรือผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย และเจ้าของอสังหาริมทรัพย์มาขอจดทะเบียนเลิกสิทธิเก็บกินตามผลของกฎหมาย
เอกสารการจดทะเบียน
- โฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- ทะเบียนสมรส หรือทะเบียนหย่า
- หนังสือยินยอมให้ทำนิติกรรมของคู่สมรสพร้อมบัตรประจำตัวประชาชน
- ใบเปลี่ยนชื่อตัว – นามสกุลกรณีมีการเปลี่ยนชื่อ – สกุล
ค่าธรรมเนียม
- การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินโดยไม่มีค่าตอบแทน เป็นการจดทะเบียนประเภทไม่มีทุนทรัพย์ คิดค่าธรรมเนียมแปลงละ 50 บาท
- การจดทะเบียนสิทธิเก็บกินที่มีค่าตอบแทนเป็นการจดทะเบียนประเภทมีทุนทรัพย์ อัตราร้อยละ 1 ตามราคาค่าตอบแทนที่คู่กรณีตกลงชำระให้แก่กัน
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย
Post Views:
863