กองทุนผู้สูงอายุ
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ผู้สูงอายุกู้ยืม เป็นทุนประกอบอาชีพ เป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม
ลักษณะการให้การกู้ยืม
- ให้ผู้สูงอายุกู้ยืม เป็นทุนประกอบอาชีพ เป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม
วิธีการให้การกู้ยืม
ให้ผู้สูงอายุได้กู้ยืมเงินเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพ โดย
– กู้ยืมเป็นรายบุคคลได้คนละไม่เกิน 30,000 บาท
– กู้ยืมเป็นรายกลุ่มๆละไม่น้อยกว่า 5 คนได้กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ ให้ชำระคืนเป็นรายงวด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย
คุณสมบัติของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน
ผู้สูงอายุที่ต้องการขอรับเงินทุนประกอบอาชีพจากกองทุนผู้สูงอายุ ต้องมีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทยที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเงินทุนประกอบอาชีพ โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือจากแหล่งทุนอื่น หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ และมีคุณสมบัติดังนี้
คุณสมบัติผู้กู้ยืม
- สามารถประกอบอาชีพได้
- มีแผนงานหรือโครงการประกอบอาชีพที่เหมาะสม
- กรณีกู้ยืมรวมกลุ่มประกอบอาชีพ (กลุ่มละไม่น้อยกว่า 5 คน) ต้องมีคุณสมบัติตาม 1, 2, 3 และต้องมีการจัดโครงสร้างกลุ่ม ประกอบด้วย
– มีรายชื่อกรรมการกลุ่ม
– รายชื่อสมาชิกกลุ่ม
– มีแผนงาน/โครงการการประกอบอาชีพที่กระทำรวมกันเป็นกลุ่ม
– หนังสือรับรองจากองค์กรของผู้สูงอายุ/องค์กรภาคเอกชน/หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง - กรณีผู้กู้ยืมมีคู่สมรส ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย
หากผู้ขอกู้รายใดไม่ผ่านการพิจารณาเนื่องจากคุณสมบัติผู้กู้ไม่ผ่านเกณฑ์, รายได้เกินเกณฑ์ และกู้ผิดวัตถุประสงค์ จะสามารถส่งมาใหม่ได้หลังจากผ่าน 6 เดือนมาแล้ว นับจากวันที่คณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุพิจารณา
คุณสมบัติผู้ค้ำประกัน
- กรณีให้กู้ยืมเป็นรายบุคคล ผู้กู้ต้องหาบุคคลที่น่าเชื่อถือจำนวน 1 คน เป็นผู้ค้ำประกัน เช่น เป็นผู้ที่มีอาชีพมั่นคง รายได้แน่นอน มีหลักฐานแสดงรายได้และการประกอบอาชีพ (หนังสือรับรอง สมุดบัญชีธนาคารที่มียอดหมุนเวียนเข้าทุกเดือนอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไปที่ยืนยันการมีรายได้ของผู้ค้ำประกัน) มีที่อยู่อาศัยที่แน่นอนตรวจสอบได้โดยมีภูมิลำเนาเดียวกันกับผู้ขอกู้ยืม และไม่เป็นผู้ค้ำประกันให้บุคคลอื่นที่ขอกู้ยืมเงินจากกองทุนผู้สูงอายุหรือไม่เป็นผู้ที่กู้ยืมด้วยกันเอง
- กรณีให้กู้ยืมเป็นรายกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มที่ต้องการกู้ยืมเงิน ต้องจัดหาผู้ค้ำประกันตามจำนวนผู้กู้ยืม โดยต้องเป็นผู้ที่มีอาชีพมั่นคง รายได้แน่นอน มีหลักฐานแสดงรายได้และการประกอบอาชีพ (หนังสือรับรอง สมุดบัญชีธนาคารที่มียอดหมุนเวียนเข้าทุกเดือนอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป หรือ บัญชีสหกรณ์ทั่วไป ที่ยืนยันการมีรายได้ของผู้ค้ำประกัน) และมีที่อยู่อาศัยที่แน่นอนตรวจสอบได้ ไม่เป็นผู้ค้ำประกันให้บุคคลอื่นที่ขอกู้ยืมเงินจากกองทุนผู้สูงอายุหรือไม่เป็นผู้ที่กู้ยืมด้วยกันเองและต้องรับผิดชอบลูกหนี้ร่วมกัน
- กรณีผู้ค้ำประกันมีคู่สมรส ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสด้วย
- ผู้ค้ำประกันต้องมีภูมิลำเนาเดียวกันกับผู้ขอกู้ยืม
วงเงินที่กองทุนผู้สูงอายุให้การสนับสนุน
- รายบุคคล อนุมัติเงินกู้ยืมตามความเหมาะสม รายละไม่เกิน30,000 บาท
- รายกลุ่ม กลุ่มละไม่น้อยกว่า 5 คน อนุมัติเงินกู้ยืมตามความเหมาะสม กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท
ทั้งนี้ การพิจารณาอนุมัติคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ด้วย
เอกสารประกอบการกู้ยืม
กรณีให้กู้ยืมเป็นรายบุคคล
- สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอกู้ยืม
- สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ค้ำประกัน
- ประมาณการค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ / แผนผังการประกอบอาชีพ,ที่อยู่อาศัย
- หนังสือรับรองเงินเดือน/สลิปของผู้ค้ำประกัน (เว้นแต่เกษตรกร)
- หนังสือยินยอมคู่สมรส ผู้ขอกู้และผู้ค้ำประกัน (หากมี)
- หนังสือสัญญาเช่าบ้าน (ในกรณีที่ผู้กู้เช่าบ้านอยู่)
กรณีให้กู้ยืมเป็นรายกลุ่ม
- สำเนาบัตรประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- โครงการประกอบอาชีพของกลุ่ม
- หนังสือสัญญาเช่าบ้าน (ในกรณีที่ผู้กู้เช่าบ้านอยู่)
- สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ค้ำประกัน
- หนังสือรับรองเงินเดือนของผู้ค้ำประกัน (เว้นแต่เป็นเกษตรกร)
- หนังสือยินยอมคู่สมรส (หากมี)
การทำสัญญากู้ยืมเงิน
หากผู้กู้ได้รับการอนุมัติให้กู้ยืมเงิน ทางกรมกิจการผู้สูงอายุ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (ตามสถานที่ที่ผู้กู้ได้ยื่นกู้) แจ้งให้ผู้กู้และผู้ค้ำประกัน หรือกลุ่มประกอบอาชีพของผู้สูงอายุ มาทำสัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาค้ำประกัน ถ้าไม่มาทำสัญญาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่แจ้งให้ทราบ ให้ถือว่าการกู้ยืมเงินในครั้งนั้น เป็นอันสละสิทธิ์/ยกเลิก หากเป็นส่วนภูมิภาคจะต้องแจ้งให้กองทุนผู้สูงอายุทราบด้วย ว่ามีผู้ผ่านการอนุมัติใดที่ไม่มาทำสัญญาภายใน 30 วัน เพื่อแจ้งผลการยกเลิกให้กับผู้กู้ทราบต่อไป
การชำระคืนเงิน
ให้ผู้กู้ส่วนภูมิภาคผ่อนชำระตามสัญญา ณ กรมกิจการผู้สูงอายุหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด หรือทางธนาณัติ (ตามที่สถานที่ที่ผู้กู้ได้ยื่นขอกู้) ภายในระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่รับเงินกู้ โดยไม่มีดอกเบี้ย ให้ชำระคืนเป็นรายงวดทุก 30 วัน ภายในวันที่ 5 ของทุกๆ เดือน หรือไม่เกินวันที่ 15 ในเดือนนั้น ๆ
เมื่อผู้กู้ได้ชำระเงินกู้เป็นรายงวดแล้ว จะได้รับหลักฐานการรับเงินทุกครั้ง หากไม่ได้รับหลักฐานการรับเงินให้แจ้งมาที่ กลุ่มกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ
สถานที่ติดต่อขอรับการกู้ยืมเงิน
- ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ
- ในส่วนภูมิภาค ให้ยื่นที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์