เงินทุนหมุนเวียนให้คนพิการกู้ยืมประกอบอาชีพ
1. การกู้ยืมเงินรายบุคคล
หลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงิน
- เป็นการให้บริการกู้ยืมเงินสำหรับคนพิการ และผู้ดูแลคนพิการ เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ เป็นการผ่อนชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย วงเงินกู้ไม่เกิน รายละ 60,000 บาท ทั้งนี้ ผู้ประสงค์จะขอกู้ยืมเงิน เกินกว่า วงเงินที่กาหนด ให้มีการพิจารณาเป็นรายๆ ไปโดยไม่เกิน 120,000 บาท
คุณสมบัติของผู้กู้ยืม
- มีบัตรประจำตัวคนพิการ
- มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคำขอ
- มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน
- บรรลุนิติภาวะ (กรณีผู้เยาว์จะไม่สามารถขอกู้ยืมด้วยตนเองได้ แต่สามารถให้ผู้ดูแลยื่นกู้แทนในนามของผู้พิการได้)
- มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือถิ่นที่อยู่ถาวรในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่า 90 วัน
- ไม่มีประวัติเสียหายในการกู้ยืมเงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
- กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดและเมื่อได้การอนุมัติแล้วต้องชำระหนี้สินที่มี อยู่เดิมทั้งหมด
- มีความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมได้และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกัน
หลักประกันเงินกู้
ผู้ที่ประสงค์จะกู้เงินกองทุน จะต้องจัดหาบุคคลค้ำประกันมาทำสัญญาการกู้ยืม และผู้ค้ำประกันดังกล่าวสามารถค้ำประกันผู้กู้ยืมได้เพียง 1 คนเท่านั้น
คุณสมบัติของผู้ค้ำประกัน
- มีความสามารถในการทำนิติกรรม
- มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่งมั่นคงมีอาชีพ และมีรายได้มั่นคง และมีชื่อในทะเบียนบ้านในท้องที่ที่ยื่นขอกู้ไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีประวัติการค้างชำระหนี้เงินกองทุนติดต่อกัน 2 งวด
- ต้องไม่เป็นสามีหรือภรรยาของผู้กู้ตามกฎหมาย
เอกสารที่ต้องนำมาประกอบในการยื่นคำร้อง
เอกสารของผู้ขอกู้ยืมเงิน
- สำเนาสมุดประจำตัวคนพิการพร้อมฉบับจริง
- สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมฉบับจริง กรณีที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในท้องที่นั้น ต้องมีหนังสือรับรองจากเจ้าหน้าที่องค์กรท้องถิ่นหรือกรรมการขององค์กรคนพิการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล หรือหนังสือรับรองการเช่าบ้านจากเจ้าของบ้านเช่า
- แผนที่แสดงที่พักอาศัย และแผนผังสถานที่ประกอบกิจการ
- ประมาณการค่าใช้จ่าย ให้ระบุรายละเอียดว่าจะนำเงินที่กู้ยืมไปใช้จ่ายเป็นค่าอะไรบ้าง
เอกสารของผู้ค้ำประกัน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการ กรณีข้าราชการค้ำประกันให้แนบหนังสือรับรองเงินเดือนด้วย
- สำเนาทะเบียนบ้าน
ขั้นตอนการขอกู้ยืมเงิน
เมื่อผู้ขอกู้ยื่นคำร้องขอกู้ยืมเงินพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดแล้ว สำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ในฐานะผู้ให้กู้จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง และข้อมูลแวดล้อมประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาในเบื้องต้นก่อนนำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ หรือคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดพิจารณา หลังจากนั้นจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอกู้ทราบ กรณีที่อนุมัติ ให้ผู้ที่ได้รับการอนุมัติ และผู้ค้ำประกันไปทำสัญญากับผู้ให้กู้ และรอหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินอีกครั้งหนึ่ง
การชำระคืนเงินกู้
ผู้ที่กู้ยืมเงินจากกองทุน จะต้องชำระคืนเงินกู้ยืมตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ณ สำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่กู้ยืมเงิน
สถานที่ยื่นคำร้องขอกู้ยืมเงิน
ผู้ที่ประสงค์จะขอกู้ยืมเงินจะต้องไปติดต่อยื่นคำร้องด้วยตนเองที่จังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือจังหวัดที่ตนเองประกอบอาชีพอยู่ ดังนี้
- กรุงเทพฯ : กองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ (ตึกนิวยอร์ก) ชั้น 2 บริเวณสถานีรถไฟสามเสน แขวงสามเสนใน กรุงเทพมหานคร
- ต่างจังหวัด : สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
2. การกู้ยืมเงินรายกลุ่ม
หลักเกณฑ์การให้กู้ยืมเงิน
- เป็นการให้บริการกู้ยืมเงินสำหรับกลุ่มคนพิการ และกลุ่มผู้ดูแลคนพิการ เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพหรือขยายกิจการ กลุ่มละ ไม่เกิน 1,000,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย เป็นการผ่อนชำระภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี
คุณสมบัติของกลุ่มที่กู้ยืม (กลุ่มคนพิการ/ กลุ่มผู้ดูแลคนพิการ)
- มีความจำเป็นในการขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพในท้องที่ที่ยื่นคำขอ
- มีความสามารถในการประกอบอาชีพในเรื่องที่ขอรับการสนับสนุน
- บรรลุนิติภาวะ
- มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือถิ่นที่อยู่ถาวรในท้องที่ที่ยื่นคำขอกู้ไม่น้อยกว่า 90 วัน
- ไม่มีประวัติเสียหายในการกู้ยืมเงินจากกองทุน เว้นแต่ได้ดำเนินการแก้ไขมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
- กรณีมีหนี้สินอยู่กับกองทุนต้องได้ชำระหนี้มาแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของวงเงินกู้ยืมทั้งหมดและเมื่อได้การอนุมัติแล้วต้องชำระหนี้สินที่มี อยู่เดิมทั้งหมด
- ความสามารถชำระคืนเงินกู้ยืมได้และมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เป็นผู้ค้ำประกัน
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย
- ได้รับการรับรองเป็นหนังสือจากผู้แทนองค์กรด้านคนพิการ กำนันผู้ใหญ่บ้านผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนา ข้าราชการระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป หรือมีหลักฐานเชื่อได้ว่าเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคน พิการซึ่งมิได้มีหนี้สินจากกองทุน
- เป็นกลุ่มคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการที่ที่รวมตัวกันโดยมีผลประโยชน์และ วัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกัน หรือทำกิจกรรมอันชอบด้วยกฎหมายและศีลธรรมร่วมกัน หรือดำเนินการอื่นอันเป็นประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีระบบบริหารจัดการและการแสดงเจตนาแทนกลุ่ม ได้ ทั้งนี้ ต้องมีสมาชิกกลุ่มไม่น้อยกว่า 2 คน
- มีหลักฐานจากสถาบันการเงินเกี่ยวกับการออมเงินของกลุ่มอย่างสม่ำเสมอมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- ดำเนินกิจการของกลุ่มในท้องที่จังหวัดที่ยื่นคำขอต่อเนื่องจนถึงวันยื่นคำขอแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน
- ได้รับการรับรองเป็นหนังสือรับรองจากองค์กรด้านคนพิการที่เป็นนิติบุคคลหรือหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นกลุ่มที่มีผลงานน่าเชื่อถือจริง
- มีแผนงานหรือโครงการของกลุ่มที่จะดำเนินการต่อไปอย่างชัดเจน
เอกสาร/หลักฐาน (ใช้เอกสารของตัวแทนกลุ่ม )
- บัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวคนพิการ ตัวจริงพร้อมสำเนา
- บัตรประจำตัวประชาชนผู้ดูแล ตัวจริงพร้อมสำเนา (กรณีผู้ดูแลคนพิการเป็นผู้ขอกู้แทนคนพิการ )
- ทะเบียนบ้านคนพิการ ตัวจริงพร้อมสำเนา (กรณีผู้ดูแลคนพิการเป็นผู้ขอกู้แทนคนพิการให้ใช้ของผู้ดูแล)
- แผนผังที่อยู่อาศัยของผู้กู้และผู้ค้ำประกัน แผนผังสถานที่ประกอบอาชีพของผู้กู้
- โครงการประกอบอาชีพของกลุ่ม
- หนังสือสัญญาเช่าบ้าน (ในกรณีที่ผู้กู้เช่าบ้านอยู่)
- สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ค้ำประกัน
- หนังสือรับรองเงินเดือนของผู้ค้ำประกัน
- หนังสือรับรองขององค์กรคนพิการหรือองค์กรเพื่อคนพิการ
- หนังสือรับรองว่าเป็นผู้อุปการะคนพิการ (ในกรณีผู้ดูแลคนพิการเป็นผู้ขอกู้แทนคนพิการ)
- ใบรับรองแพทย์ (กรณีคนพิการมีสภาพความพิการร้ายแรง และผู้ดูแลคนพิการเป็นผู้ขอกู้แทนคนพิการ)
- รูปถ่ายเต็มตัวของผู้กู้ ขนาด 4X6 นิ้ว ปัจจุบัน จำนวน 1 รูป (ในกรณีผู้ดูแลคนพิการเป็นผู้ขอกู้แทนคนพิการต้องถ่ายคู่กับคนพิการด้วย)
- สมุดบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อม (รายชื่อธนาคารขึ้นอยู่กับดำเนินการของแต่ละพื้นที่ ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)
ขั้นตอนการขอกู้ยืมเงิน
- เมื่อผู้ขอกู้ยื่นคำร้องขอกู้ยืมเงินพร้อมเอกสารหลักฐานตามที่กำหนดแล้ว สำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการหรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ในฐานะผู้ให้กู้จะดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง และข้อมูลแวดล้อมประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาในเบื้องต้น
- นำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ หรือคณะอนุกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการประจำจังหวัดพิจารณา
- หลังจากนั้นจะแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอกู้ทราบ กรณีที่อนุมัติ ให้ผู้ที่ได้รับการอนุมัติ และผู้ค้ำประกันไปทำสัญญากับผู้ให้กู้ และรอหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินอีกครั้งหนึ่ง
การชำระคืนเงินกู้
- ผู้ที่กู้ยืมเงินจากกองทุน จะต้องชำระคืนเงินกู้ยืมตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา ณ สำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดที่กู้ยืมเงิน
สถานที่ยื่นคำขอกู้ยืมเงิน
- ผู้ที่ประสงค์จะขอกู้ยืมเงินจะต้องไปติดต่อยื่นคำร้องด้วยตนเองที่จังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือจังหวัดที่ตนเองประกอบอาชีพอยู่ ดังนี้
- กรุงเทพฯ : กองทุนและส่งเสริมความเสมอภาคคนพิการ (ตึกนิวยอร์ก) ชั้น 2 บริเวณสถานีรถไฟสามเสน
- ต่างจังหวัด : สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ผู้ที่ประสงค์จะขอกู้ยืมเงินจะต้องไปติดต่อยื่นคำร้องด้วยตนเองที่จังหวัดที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือจังหวัดที่ตนเองประกอบอาชีพอยู่ ดังนี้
หน่วยงานที่รับผิดชอบ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์